วันนี้ (20 ม.ค. 68) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ปัจจุบัน (20 ม.ค. 68) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 57,942 ล้าน ลบ.ม. (76% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 34,003 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 19,059 ล้าน ลบ.ม. (77% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 12,363 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 11,933 ล้าน ลบ.ม. (41% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้ว 3,876 ล้าน ลบ.ม. (43% จากแผนฯ) ด้านผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วรวม 7.95 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังแล้ว 5.97 ล้านไร่
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศเดินหน้าบริหารจัดการน้ำตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด พิจารณาปรับแผนการระบายน้ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วยความประณีต ควบคู่ไปกับการจัดหาแหล่งน้ำสำรองและเก็บกักน้ำให้มากที่สุด ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการใช้งานในทุกกิจกรรมตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ตามนโนบายของศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์