วันนี้ (21 มกราคม 2568 ) ที่ทำเนียบรัฐบาล แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์, นายพิชิต ไชยมงคล, นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม, นายแก้วสรร อติโพธิ, นายเจษฎ์ โทณะวณิก, นายนิติธร ล้ำเหลือ และ พล.อ. สมเจตน์ บุญถนอม เดินทางมายื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องกรณีการพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล โดยมี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล
นายแก้วสรร กล่าวว่า เรื่องชั้น 14 ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นเรื่องความถูกต้องของแผ่นดิน ทุกคนต้องเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะนามสกุลอะไร การเดินทางมาในวันนี้หากศาลตัดสินว่าทำผิด ต่อสู้คดีแล้วหลักฐานชัดเจนจะต้องติดคุก การมาเรียกร้องในวันนี้เพื่อให้กฎหมายเป็นกฎหมายไม่ใช่ละเมิดกฎหมายเสียเอง ขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบแม้จะเป็นพ่อก็ต้องทำ เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีพ่อมีแม่ แต่กลับเพิกเฉยมาตลอด
ทั้งนี้ ขอให้ใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร สั่งทุกหน่วยงานตั้งแต่โรงพยาบาลตำรวจ เรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ ยื่นเอกสารเรียกเวชระเบียนทั้งหมดให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แพทยสภา และศาลยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาในสัปดาห์หน้า ถ้าไม่ทำจะติดเหมือนกับพ่อและอาของนายกรัฐมนตรี ข้อหาละเว้นโดยทุจริต พร้อมกับฝากว่า คำว่านายกรัฐมนตรีทรพีไม่มีอยู่ในพจนานุกรม มีแต่นายกรัฐมนตรีทรยศประชาชน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า ต้องการมาสื่อสารโดยตรงถึงนายกรัฐมนตรีว่าถึงเวลาที่ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกับนักโทษชั้น 14 และขณะนี้ออกมาอาละวาดทั่วประเทศไทย ต้องให้ประชาชนช่วยกันต้อนกลับไปคุก ซึ่งได้นำหลักฐานมาชี้แจงว่าละครชั้น 14 นั้นไม่เนียน โดยเฉพาะโรงพยาบาลตำรวจอ้างว่าส่งเวชระเบียนมาบางส่วน ทางการแพทย์สรุปได้เลยว่า “ไม่มี”เวชระเบียนทั้งหมดจะต้องอยู่ในแฟ้มเดียวกัน หากใช้ระบบคอมพิวเตอร์จะต้องอยู่ในไฟล์เดียวกันทั้งหมด ไม่สามารถแยกส่วนได้ และในฐานะนายกรัฐมนตรี จะต้องลงมาจัดการเรื่องนี้ก่อนที่จะสายเกินไป และมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม อย่าเอาพ่อมาอ้าง หากกังวลเรื่องพ่อแล้วไม่ดูแลเรื่องกระบวนการยุติธรรมขอให้ออกไป และนี่คือเสียงเล็กๆ จากประชาชนว่าให้นายกรัฐมนตรีออกไป และหากยังไม่จัดการจะเจอกับเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านี้
ขณะที่ เจษฎ์ โทณะวณิก ยังถามหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าอยู่ที่ใด คสช. ทั้งหลายมีกี่คน แล้วให้ประชาชนมารับผิดชอบ ขณะเดียวกันยังกล่าวถึงนายวิษณุ เครืองาม ที่เห็นปรากฏตัวที่กรมราชทัณฑ์ แล้วสุดท้ายนายทักษิณก็หายตัวไปจากพื้นที่กรมราชทัณฑ์ไปปรากฏตัวที่ชั้น 14 ความรับผิดชอบของอดีต คสช. อยู่ที่ใด
พรรคเพื่อไทยไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งแล้ว มันมีกลไกช่วยกันถีบหัวพรรคก้าวไกล คนเหล่านั้นรับผิดชอบอะไรบ้าง
ส่วนเรื่องคาสิโนพรรคเหล่านี้จะรับผิดชอบอะไรบ้างหรือไม่ ไม่มีบ้านเมืองไหนถ้าไม่สิ้นคิดจะเปิดกาสิโน ตนจึงอยากถามหาความรับผิดชอบ ต้องถามพรรคร่วมรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องดูว่าร่วมรัฐบาลอยู่หรือไม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายวราวุธ ศิลปอาชา และใครต่อใคร คนเหล่านี้ไม่รับผิดชอบต่อบ้านเมืองเลยหรือ พร้อมเสนอหากประชาธิปไตยเป็นเช่นนี้ตนขอเสนอเลิกประชาธิปไตย
ส่วน จตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า เรื่องที่ดินอัลไพน์มีกระบวนการตั้งแต่การจัดซื้อ โดยตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มกระบวนการภายหลังยกกันเข้าพรรค การที่นายทักษิณ ออกมากล่าวอ้างมาได้มาโดยสุจริตขอตั้งคำถามว่าไม่รู้จริงๆ หรือว่าเป็นที่ดินของวัด อย่าหวังว่าจะได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว
ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งคาสิโนว่าผู้ถือที่ทำธุรกิจส่วนใหญ่ถือ 2 สัญชาติ มีความใกล้ชิด และท้ายที่สุดก็จะจบแบบสุดซอย รวมทั้งยังชวนจับตาคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 27 มกราคมนี้ หลังจากที่มีการยื่นถึง 3 ครั้ง พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าอยากจะหนีเหมือนพ่อเหมือนอาก็ทำต่อไป แต่หากคิดจะอยู่แผ่นดินไทยต่อก็อย่าได้ทำเหมือนสิ่งที่เคยทำมา
ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุม ได้อ่านข้อเรียกร้องดังนี้ 1. ข้อมูลและพยานหลักฐานสำคัญในคดีคือบรรดาเวชระเบียนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามที่แพทยสภาได้ขอไว้ ทั้งที่อยู่ในครอบครองของฝ่ายราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ และที่สำคัญที่สุดคือคำรับรองทางการแพทย์ว่านักโทษมีอาการป่วยหนัก และแพทย์ของเรือนจำไม่มีขีดความสามารถรักษาพยาบาลได้ ทั้งที่รับรองไว้ในชั้นส่งตัว รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลตำรวจ และในชั้นประกอบรายงานต่อผู้บังคับบัญชาในกระทรวงยุติธรรมที่ยืนยันให้นักโทษอยู่โรงพยาบาลต่อไปเมื่อครบ 30 วัน, 60 วัน และ 120 วัน
2. คดีบริหารกระบวนการบังคับโทษครั้งนี้เกิดขึ้นในราชการฝ่ายบริหารทั้งสิ้น เป็นคดีสำคัญที่กระทบถึงความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ทั้งในหมู่ประชาชนและนานาประเทศเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหารอยู่แล้วที่ต้องสะสางคดีนี้ ซึ่งทำได้ทั้งสอบสวน ลงโทษ และแก้ไข คือให้กรมราชทัณฑ์ร้องต่อศาลให้ออกหมายขังใหม่ แต่กลับไม่มีผู้ใดสนใจรับผิดชอบสะสางคดีเลย จน ป.ป.ช. และแพทยสภาต้องเข้ามาคลี่คลายในที่สุด
ช่วงท้ายของหนังสือยังได้ขอให้นายกรัฐมนตรีแยกแยะระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตนกับทักษิณ กับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของหัวหน้าฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม กลุ่มจะเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม เพื่อยื่นคัดค้านเรื่องการสร้างบ่อนคาสิโน